จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของรถยนต์ PROTON

โปรตอน (อังกฤษ: Proton) เป็นชื่อของผู้ผลิตรถประจำชาติประเทศมาเลเซีย เป็นตัวย่อของภาษามาเลย์จากคำว่า PeRusahaan OTOmobil Nasional ซึ่งแปลว่าบริษัทรถยนต์แห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด ใช้ชื่อบริษัทว่า โปรตอนโฮลดิงส์เบอร์ฮาด (Proton Holdings Berhad) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นมาเลเซีย

โดยอาศัยเทคโนโลยีและชิ้นส่วนของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส โมเดลรถรุ่นแรกก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2528 ภายใต้ชื่อ โปรตอน ซากา (Proton Saga) โดยประกอบในเมืองชาห์อาลาม รัฐสลังงอร์ แรกเริ่มก็ใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ของมิตซูบิชิทั้งสิ้น ต่อมาก็ค่อยๆถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมาเป็นของโปรตอนเอง โปรตอนซากาผลิตครบคันที่ 1 แสนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2532
ช่วงปลายทศวรรษที่ 90 โปรตอนก็ได้เปลี่ยนโลโก้จากเดิมที่ออกแบบคล้ายดาวเดือนในธงชาติมาเลเซีย มาใช้เป็นหัวเสือแบบปัจจุบันแทน ในปี พ.ศ. 2536 โปรตอนก็ออกรุ่นใหม่ชื่อ โปรตอน วีรา (Proton Wira) โดยถอดแบบมาจากมิตซูบิชิ แลนเซอร์ และสามารถขายได้ถึง 220,000 คัน ระหว่างปี 2539 ถึง 2541 รุ่นต่อมาคือโปรตอน เพอร์ดานา (Proton Perdana) พัฒนาจากมิตซูบิชิ กาแลนท์ เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 2538 เพื่อขยายตลาดไปสู่ระดับสูงขึ้น
จนถึงปี พ.ศ. 2545 โปรตอนก็ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 60% ในมาเลเซีย แต่ลดลงเหลือเพียง 30% ในปี 2548 และคาดการณ์กันว่าจะลดลงอีกในปี 2550 เมื่ออาฟต้า (AFTA) ได้ประกาศลดภาษีการนำเข้ารถยนต์เหลือเพียง 5% เท่านั้น ทำให้รถต่างประเทศสามารถขายได้ถูกลงในประเทศมาเลเซีย จึงมีตัวเลือกให้ประชาชนมากขึ้นโปรตอน วีรา SE

โปรตอน วาจา (Proton Waja) หรืออีกชื่อหนึ่งในอังกฤษคือโปรตอน อิมเปี้ยน (Proton Impian) คือโมเดลรุ่นแรกที่ออกแบบโดยโปรตอนเอง ในปี 2539 โปรตอนได้รับเทคโนโลยีของโลตัส (Lotus) มาจากบริษัท ACBN Holdings (บริษัทที่มีเจ้าของเดียวกับบูกัตตี Bugatti) โปรตอนก็เริ่มมีความชำนาญด้านวิศวกรรมยานยนต์มากขึ้น จนทำให้สามารถผลิตโปรตอน เจนทู (Proton Gen-2) ขึ้นมาได้ โดยก่อนจะออกสู่ตลาดใช้ชื่อรุ่นว่า Wira Replacement Model (WRM) หรือรุ่นที่จะมาแทนที่วีรา โปรตอน เจนทู เป็นรถรุ่นแรกที่ผลิตในโรงงานแห่งใหม่ของโปรตอนในเมืองตันหยงมาลิม รัฐเประ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโปรตอนซิตี้ โรงงานแห่งนี้เริ่มเปิดใช้งานในปีพ.ศ. 2547 วันที่ 8 มิถุนายน 2548 โปรตอนก็นำรถรุ่นใหม่ที่ผลิตในตันหยงมาลิมออกสู่ตลาด เป็นรถเล็กๆ ขนาด 1,200 ซีซี 5 ประตู ใช้ชื่อรุ่นว่าโปรตอน เซฟวี่ (Proton Savvy) ทั้งรุ่น Gen-2 และ Savvy คือรุ่นที่ MG Rover บริษัทรถจากประเทศอังกฤษสนใจที่จะนำไปพัฒนาต่อ เมื่อพวกเขาได้เข้ามาเจรจากับโปรตอน แต่แผนการก็ได้ล้มเหลวเสียก่อน
ในปี 2550 โปรตอนก็ออกรถยนต์ซีดานรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นแทนที่รุ่นวีรา คือเพอร์โซนา (Persona) และล่าสุดวันที่ 18 มกราคม 2551 รุ่นใหม่ล่าสุดก็ออกสู่ตลาด คือรุ่นโปรตอน ซากา (Proton Saga) โดยโปรตอนซากาพัฒนาต่อมาจากรุ่นเซฟวี่ แต่ใช้เครื่องยนต์แคมโปร (Campro) 1.3 ลิตร แทนเครื่องยนต์เรโนลต์ (Renault) ที่ใช้ในเซฟวี่
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 โปรตอนเซ็นสัญญากับบริษัทยังแมนออโตโมบิลจำกัด (Youngman Automobile Group Ltd. Co.,) โดยในระยะเริ่มต้นบริษัทยังแมนจะนำเข้ารถโปรตอนเข้าไปขายในประเทศจีนเดือนละ 1,500 คัน เป็นระยะเวลา 20 เดือน โดยใช้ชื่อยี่ห้อใหม่คือ "ยุโรปสตาร์" (EuropeStar) ซึ่งเป็นชื่อที่ทางยังแมนตั้งขึ้น และในอนาคตมีแผนจะร่วมมือกันพัฒนารถรุ่นใหม่เพื่อผลิตในจีน
สำหรับในประเทศไทย ภายหลังอัตราภาษีใหม่ของอาฟต้า ทำให้บริษัทพระนครยนตการได้นำโปรตอนเข้ามาขาย โดยเปิดตัวครั้งแรกในงานมอเตอร์เอกซ์โปที่เมืองทองธานี ช่วงปลายปี 2550 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มียอดจองเกิน 1,000 คัน และได้ทยอยส่งมอบรถให้กับผู้ที่สั่งจองแล้ว

                                                                                                  อ้างอิงจากเว็ป วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น